กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต มีสำนักงานใหญ่เรียกว่า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครแบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1. สภากรุงเทพมหานคร ( ฝ่ายนิติบัญญัติ ) ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี กำหนดให้ประชาชนในแต่ละเขตปกครองเลือกสภากรุงเทพมหานครได้เขตละ 1 คน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมี 50 เขตปกครอง มีสภากรุงเทพมหานครได้ 50 คน
ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว สภากรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ทางนิติบัญญัติ รวมทั้งควบคุมและตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ( ฝ่ายบริหาร ) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นตามกฎหมาย โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกิน 4 คน ช่วยในการบริหารงานตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย
พื้นที่การบริหารกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็นเขตและแขวง ในแต่ละเขตจะมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร โดยมีสภาเขต ( สข.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายในเขตนั้น ซึ่งแต่ละเขตมีสมาชิกสภาเขตอย่างน้อยเขตละ 7 คน ถ้าเขตใดมีประชากรเกิน 100,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเขตได้เพิ่มอีก 1 คน เศษของแสนถ้าเกิน 50,000 คน ให้นับเป็น 100,000 คน มีวารการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี